ประวัติความเป็นมาของสถานี
ด้วยเมื่อปี พ.ศ.2497 กรมตำรวจได้จัดตั้ง และให้งบประมาณก่อสร้างสถานีตำรวจภูธรหัวทุ่ง ขึ้นที่บริเวณบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลพรหมโลก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านนอกท่า” มีอาคารสถานีทำด้วยไม้ 1 หลัง เรือนแถวบ้านพัก 1 หลัง 7 ห้อง มีข้าราชการตำรวจประจำการ จำนวน 14 นาย รับผิดชอบตำบลบ้านเกาะ ตำบลพรหมโลก ตำบลอินคีรี โดยมีข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ รวม 5 นาย มีรายชื่อเรียงลำดับดังนี้
1. ส.ต.อ.เขต นุสุข ( 2497 - 2504 )
2. จ.ส.ต.เชิง สิทธิพล ( 2504 - 2507 )
3. จ.ส.ต.อาคม ถนิมพาสน์ ( 2507 - 2510 )
4. จ.ส.ต.เอื้อน เรืองกลับ ( 2510 - 2513 )
5. จ.ส.ต.ประเวช ศิริรัตน์ ( 2513 - 2517 )
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2517 กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นโดยให้แยกพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ออกเป็นกิ่งอำเภอ ซึ่งประกอบด้วย ตำบลบ้านเกาะ ตำบลพรหมโลก และตำบลอินคีรี โดยใช้ชื่อว่า “ กิ่งอำเภอพรหมคีรี “ โดยให้ใช้อาคารสถานีตำรวจภูธรหัวทุ่งเป็นสถานีที่ทำการ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพรหมโลก ( บ้านนอกท่า ) ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี เรียงตามลำดับดังนี้
1. ร.ต.อ.ดำริห์ พรหมสุวรรณ์ ( 2517 - 2519 )
2. ร.ต.อ.เคลื่อน ดำรักษ์ ( 2519 - 2520 )
3. ร.ต.อ.สุวิทย์ โอทอง ( 2520 - 2521 )
วันที่ 8 ธันวาคม 2519 ผกค.ได้นำกำลังเข้าโจมตี และ วางเพลิงเผาอาคารที่ทำการสถานีตำรวจได้รับความเสียหายหมดทั้งหลังคงเหลือไว้แต่เรือนแถวบ้านพักข้าราชการตำรวจเพียงหลังเดียว ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงอนุมัติให้เช่าสถานที่เอกชนบริเวณตลาดนอกท่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมโลก เป็นที่ทำการชั่วคราว
ต่อมาในปี 2520 ทางราชการเห็นว่ากำลังส่วนของสถานีตำรวจภูธรบ้านดอนคา ตำบลทอนหงส์ ซึ่งอยู่ในปกครองของสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมและเสี่ยงต่ออันตรายสูง กรมตำรวจจึงมีคำสั่งถอนกำลังข้าราชการตำรวจของสถานีตำรวจภูธรบ้านดอนคามาร่วมกับกำลังของสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี
วันที่ 25 ธันวาคม 2521 ผู้ก่อการร้าย (ผกค.) ได้นำกำลังเข้าโจมตีที่ทำการสถานีชั่วคราวซึ่งเช่าสถานที่ของเอกชนเป็นที่ทำการอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวได้รับบาดเจ็บราษฎรที่มีบ้านข้างเคียงถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินของทางราชการเสียหายบางส่วน ต่อจากนั้นทางเอกชนก็ไม่ยอมให้เช่าสถานที่เป็นที่ทำการอีกต่อไป จึงได้ซ่อมแซมอาคารบ้านพักข้าราชการตำรวจที่เหลืออยู่เดิมเป็นที่ทำการชั่วคราว ในปี พ.ศ.2522 ขณะที่นายชัยยศ สุวรรณฤทธิ์ ตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอพรหมคีรี ได้อนุญาตให้ ร.ต.อ.นภดล เชื้อไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรีในขณะนั้นย้ายกำลังข้าราชการตำรวจมาทำงานชั่วคราว ณ อาคารที่ทำการที่ว่าการกิ่งอำเภอพรหมคีรี
วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอพรหมคีรี มีนายถาวร บุญวันตัง เป็นนายอำเภอ มีเขตการปกครองที่ต้อง
รับผิดชอบ จำนวน 4 ตำบล กรมตำรวจจึงได้ยกฐานะสถานีตำรวจกิ่งอำเภอพรหมคีรีขึ้นเป็นสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้ง ร.ต.อ.นภดล เชื้อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี และกรมตำรวจจึงได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาท) เพื่อก่อสร้างเป็นบ้านพักรองสารวัตร จำนวน 2 หลัง และบ้านพักนายสิบพลตำรวจ จำนวน 2 เรือนแถว 20 คูหา
ในปี พ.ศ.2525 กรมตำรวจได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,458,000 บาท ( สามล้านสี่แสนห้าหมื่นแปดพันบาทถ้วน ) เพื่อสร้างอาคารที่ทำการ จำนวน 1 หลัง บ้านพักสารวัตร จำนวน 1 หลัง บ้านพักรองสารวัตร จำนวน 2 หลัง และ บ้านพักนายสิบพลตำรวจ จำนวน 1 หลัง 25 คูหา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หลายรายการ
ในปี พ.ศ.2526 ได้ย้ายที่ทำการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี จากอาคารที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี มาอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี ในปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา เป็นที่ราชพัสดุ ของศูนย์ราชการอำเภอพรหมคีรี มีผู้ดำรงตำแหน่ง สารวัตรสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี เรียงตามลำดับดังนี้
1. พ.ต.ต.นภดล เชื้อไทย ( 2524 - 2527 )
2. พ.ต.ท.ธีระ ฤทธิชาญชัย ( 2527 - 2528 )
3. พ.ต.ท.วิรัช เลขะวรกุล ( 2528 - 2529 )
4. พ.ต.ต.ประโยชน์ เสาวคนธ์ ( 2529 - 2532 )
5. พ.ต.ต.นเรนทร์ วีระวุฒิ ( 2532 - 2533 )
6. พ.ต.ต.บวร ไชยสัตย์ ( 2533 - 2534 )
7. พ.ต.ต.สมชาย อ่วมถนอม ( 2534 - 2534 )
ต่อมาในปี พ.ศ.2534 ได้มีคำสั่งกรมตำรวจยกฐานะจากตำแหน่ง สารวัตร เป็น สารวัตรใหญ่ และเป็นรองผู้กำกับการ ( หัวหน้า ) สถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี มีผู้ดำรงตำแหน่ง สารวัตรใหญ่ และ รองผู้กำกับการ ( หัวหน้า )สถานีตำรวจ เรียงตามลำดับดังนี้
1. พ.ต.ท.สุวรรณ ขุนทองจันทร์ ( 2534 - 2537 )
2. พ.ต.ท.สุภรณ์ โชติพันธ์ ( 2537 - 2541 )
3. พ.ต.ท.สำเริง ชูกะนันท์ ( 2542 - 2545 )
4. พ.ต.ท.อาทิตย์ เกิดก่อ ( 2545 - 2545 )
ต่อมาในปี พ.ศ.2545 ได้ปรับโครงสร้างจากตำแหน่ง รองผู้กำกับการ ( หัวหน้า ) ขึ้นเป็น ผู้กำกับการ มีผู้ดำรงตำแหน่ง เรียงตามลำดับดังนี้
1. พ.ต.อ.เจริญ เชาวลิต ( 2545 - 2548 )
2. พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ( 2548 - 2550 )
3. พ.ต.อ.เกษมศักดิ์ หะซะนี ( 1 พ.ค.2550 - 1 พ.ย. 2550 )
4. พ.ต.อ.เอิบ คงกล่ำ ( 1 พ.ย.2550 - 20 พ.ย.2551 )
5. พ.ต.อ.สุวรรณ ขุนทองจันทร์ (20 พ.ย.2551 - 16 ก.พ.2553 )
6. พ.ต.อ.พินิจ อำนวยพร (16 ก.พ.2553 - 30 พ.ค. 2555 )
7. พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เผ่าชู ผกก.สภ.เฉลิมพระเกียรติ รรท.ผกก.สภ.พรหมคีรี ( 8 มิ.ย. 2555 - 6 ธ.ค. 2555)
8. พ.ต.อ.บุญมี ศิริปาลกะ (6 ธ.ค. 2555 – 30 ก.ย.2557 (เกษียณ))
9. พ.ต.อ.นิกร สมสุข (15 ม.ค.2558 – 18 พ.ค.2559)
10.พ.ต.อ.ทักษิณ โภชากรณ์ (19 พ.ค.2559 – 2562)
11.พ.ต.อ.ปิติพัฑณ์ อนัญลักษณ์ ( ตุลาคม 2562-ปัจจุบัน).